วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558

การทำบุญ

การทำบุญ คือการกระทำสิ่งที่ดีงามตามหลักคำสอนพระพุทธศาสนา การทำบุญนั้นเป็นไปเพื่อการแสดงการทำนุบำรุงศาสนา เป็นการแสดงออกถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และการพร้อมที่จะตั้งมั่นอยู่ในวิธีอันดีงาม ในวิธีของคนไทยชาวพุทธเกิดมาแล้วย่อมคุ้นเคยกับการทำบุญ เข้าวัด ที่แสดงถึงการเป็นพุทธศานิกชนที่ดี และเป็นการสร้างจิตใจของเราให้มีความสงบสุขนำไปถึงความสมัครสมานสามัคคีในครอบครัว ในหมู่วงสังคมเล็ก ๆ จนถึงวงสังคมใหญ่ ๆ เมื่อมีการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นประจำ จิตใจเกิดความสงบร่มเย็น ก็จะมีผลไปสู่วิธีการที่จะคิดหรือใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีความร่มเย็น ถ้อยทีถ้อยอาศัย เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ตั่งแต่กับคนในครอบครัว สมาชิกในบ้านจนถึงสมาชิกในสังคมและเพื่อนร่วมโลก

แต่จะกล่าวกันในด้านความเชื่อแล้ว คนไทยเรามีความเชื่อกันว่าเมื่อทำบุญแล้วก็จะได้บุญ การทำบุญจึงต้องทำด้วยจิตใจที่สงบ งดงาม นอกจากการทำบุญด้วยวัตถุและพิธีกรรมต่าง ๆ แล้วก็ยังต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่สร้างบาปกับผู้อื่นด้วย การทำบุญ แบ่งได้ดังนี้

การทำบุญแบบทานมัย

เป็นการทำบุญด้วยการบริจาคทาน หาสิ่งของในบ้าน เช่น เสื้อผ้า หนังสือ ข้าวของเครื่องใช้บางอย่างที่ยังใช้งานได้อยู่บ้าง นำไปบริจาคให้แก้คนยากไร้ อาจจะเป็นคนท่ีประสบทุกข์ภัยจากอัคคีภัย ไฟไหม้บ้าน หรือคนที่เขาขัดสนจนยากและต้องการความช่วยเหลือตามสถานสงเคราะห์หรือแม้แต่คนที่อยู่ในละแวกบ้านก็ได้ หรือจะให้ที่แห่งหนใดที่เราไปพบเจอก็ได้ ถ้าเห็นเค้ายากไร้ลำบาก ให้นำเสื้อผ้าไปบริจาค นำสิ่งของต่าง ๆ ไปแบ่งปันให้เขา โดยไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน และไม่จำเป็นต้องทราบมาว่าเขาขอความช่วยเหลือ ถ้าเราเห็นใครลำบาก เห็นใครยากไร้ เราสามารถที่จำทำทานให้แก่เขาได้ แบ่งปันให้เขาได้ ถือเป็นการทำบุญแบบทานสมัย คือการบริจาคทาน หรืออาจจะเป็นการบริจาคด้วยเงินก็ถือเป็นการทำทานเช่นกัน เช่นถ้าเราบังเอิญผ่านไปที่ใดแล้วพบเห็นเด็กยากไร้ที่ต้องคุ้ยเขี่ยหาของในขยะไปขาย หากเขาใส่เสื้อผ้าขาดเก่า เราอาจนำเสื้อผ้ามาแบ่งปันให้เขาสัก 2-3 ชุด หาหนังสือมาให้ หรือหาข้าวของเครื่องใช้บางอย่าง แม้จะเป็นเพียงครั้งเดียวแล้วก็จากกันไป เราไม่สะดวกที่จะสามารถดูแลอย่างอื่นได้อีก แม้เป็นเพียงครั้งเดียวก็ถือเป็นการให้ทานแล้ว และถ้าหากเราประพฤติปฏิบัติเช่นนี้บ่อย ๆ กับคนยากไร้อื่น ๆ ก็ถือว่าเป็นบุญทานมัยที่ดีงาม เพราะมีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการขูดความตระหนี่ ขูดความเห็นแก่ตัวออกจากตน การทำบุญให้ทานนี้เป็นการทำบุญอันประเสิฐที่จะได้กุศลได้อนิสงส์แก่ตนในระดับสูง เพราะเป็นการให้เพื่อช่วยเหลือเขามิได้ให้เพื่อที่จะคิดแต่ว่าทำบุญแล้วเราจะได้บุญด้วยความอิ่มใจ

การทำบุญแบบสีลมัย

สีลมัย คือการรักษาศีล เป็นการลดความประพฤติที่ไม่ดี เป็นการขูดกิเลสตัณหาออกไปจากตนเองบ้าง การทำบุญด้วยการรักษาศีลนี้ ก็ถือเป็นการสร้างกุศลอย่างหนึ่ง เพราะเราไม่ได้ทำบุญเพื่อที่จะหวังเอาบุญอย่างเดียว เราไม่ได้ทำเพื่อจะคิดว่าทำบุญแล้วจะได้ไปสวรรค์ ได้อานิสงส์ตอบแทน แต่การรักษาศีลเป็นการทำเพราะเราต้องการมีสติเราต้องการละเว้นความประพฤติที่ไม่ดี เราปรารถนาที่จะใช้ชีวิตอยู่ในศีลธรรมอันงดงาม อันเป็นการสร้างความดีแก่ตนเองและไม่เบียดเบียนใคร

สีลมัยนี้แม้จะเป็นการทำบุญด้วยการรักษาศิล แต่จะเป็นการตั้งใจที่จะรักษาศีลตลอดเวลา มิใช่การตั้งจิตอธิฐานว่าจะรักษาศีล 5 เวลา 3 วัน 7 วัน แต่เป็นการตั้งใจว่าจะอยู่ในศิลธรรมเสมอไปทุกวันเวลา โดยจะเริ่มเคร่งครัดจากศีลข้อใดก่อนก็ได้ ค่อย ๆ ทำเป็นอย่างสมบูรณ์ทุกข้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการไม่ทำลายไม่เบียดเบียนชีวิตคนอื่น ไม่ลักทรัพย์ ไม่พูดปด ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ดื่มสุราเมรัย แต่ก็ไม่ใช่ศีล 5 ข้อนี้เท่านั้นที่เราควรพึงรักษา ศีลและธรรมอันเป็นความดีงามทุกข้อเราก็ควรรักษาให้เคร่งครัดจึงเรียกว่าเป็น สีลมัย โดยแท้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการระงับอารมณ์โกรธ การให้อภัย การไม่ผูกพยาบาทใครก็ถือว่าเป็นการอยู่ในศีล เป็นการรักษาศีลให้ถึงพร้อม

การทำบุญแบบภาวนามัย

ภาวนามัย ก็คือการฝึกรักษาจิตให้สงบ เพื่อให้เกิดปัญญาและสมาธิ ซึ่งการทำบุญแบบนี้สามารถทำได้ด้วยการหมั่นสวดมนต์ภาวนาเป็นประจำ ให้เป็นนิจศีล มิใช่ปีหนึ่งสวดมนต์เพียงครั้งเดียว แต่การทำบุญแบบภาวนามัยนี้จะต้องเป็นการสวดมนต์ภาวนาเป็นประจำ อาจเริ่มต้นด้วยการสวดมนต์ทุกวันพระหรือทุกวันคล้ายวันเกิดตน เช่น ถ้าเกิดวันจันทร์ให้สวดมนต์วันจันทร์เป็นต้น

การสวดมนต์ภาวนานี้ให้สวดตามหนังสือสวดมนต์ต่าง ๆ โดยจะเลือกสวดตอนเช้าก่อนออกจากบ้านหรือช่วงเวลาเงียบสงบก่อนเข้านอนก็ได้

การทำบุญแบบอปจายนมัย

อปจายนมัย หมายถึง ความถ่อมตน ความอ่อนน้อม ซึ่งที่จริงแล้วเป็นคุณลักษณะของการประพฤติตนที่ดีที่งาม ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรยึดถือปฏิบัติกันอยู่แล้วสำหรับการดำรงตนให้อยู่ในชีวิตประจำวัน

การทำบุญแบบเวยยาวัจจมัย

เวยยาวัจจมัย หมายถึง การสละแรงกายของตนเพื่อช่วยเหลือคนอื่น หรือช่วยเหลือส่วนรวมที่ไม่ได้เป็นการกระทำเพื่อตนเอง

การทำบุญด้วยวิธีนี้ เป็นกุศลในระดับสูงเพราะเราทำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก้ผู้อื่นเป็นสำคัญในเบื้องต้น ผู้อื่นจะได้ประโยชน์เป็นอันดับแรกมิใช่ตัวเรา

เราสามารถทำบุญด้วยการสละแรงกายได้เสมอ ได้ทุกหนทุกแห่ง เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะทำบุญ เราอาจจะใช้กำลังกายนี่แหละทำบุญทำทานในแบบเวยยาวัจจมัยนี้บ้างก็จะได้บุญกุศลอย่างแรง

การทำบุญแบบปัตติทานมัย

ปัตติทานมัย หมายถึง การเผื่อแผ่ความดีให้ผู้อื่นได้ร่วมในความดีนี้ด้วย ซึ่งก็เฉกเช่นเดียวกับข้อที่กล่าวไปแล้วคือ ความดีนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของการทำบุญในขอบเขตพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด หรือจะหมายถึงการทำในพระพุทธศาสนาด้วยเช่นกัน

ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าเราจะนำสิ่งของหรือเงินทองไปบริจาคมูลนิธิเด็กพิการซ้ำซ้อนแล้วเราได้ไปบอกเพื่อน ๆ ของเราให้ร่วมทำบุญนี้ด้วย โดยไปบอกกล่าวว่า ใครมีของอะไรก็นำมาบริจาคกัน หรือจะบริจาคเงินทองก็ได้ อย่างนี้แหละเรียกว่าการเผื่อแผ่ความดีให้คนอื่นได้ร่วมทำบุญกับเราด้วย

การทำบุญแบบปัตตานุโมทนามัย

ปัตตานุโมทนามัย หมายถึง การยินดีในการทำความดีของผู้อื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะถ้าเราสามารถสร้างบุญแบบปัตตานุโมทนามัยนี้ได้เราจะได้กุศลในระดับสูง เพราะจิตใตเรานั้นยกย่องและชื่นชมในคุณงามความดีของบุคคลอื่น

การทำบุญแบบธัมมัสสวนมัย

ธัมมสัสสวนมัย หมายถึง การฟังธรรม การศึกษาธรรม ซึ่งเป็นการรับเอาสิ่งที่ดีงามมาคิด ไตร่ตรอง การทำบุญแบบนี้สามารถทำกับตัวเองก็ได้ หรือแบ่งปันให้กับผู้อื่นก็ได้ การที่เราหาหนังสือธรรมมาฟัง หรือไปฟังเทศน์ฟังธรรมจากพระ แล้วก็ได้มการครุ่นคิดไตรตรองถึงหลักคำสอนที่ดีงามนั้นไปด้วย นี่แหละถือว่าเป็นการเก็บเกี่ยวบุญกุศลแบบธัมมสัสสวนัยอย่างหนึ่ง ซึ่งจะได้ผลดีแก่ตัวเราเองโดยแท้ทีเดียว

การทำบุญแบบธัมมเทสนามัย

ธัมมเทสนามัย คือการให้ธรรมะ หรือเป็นการให้ข้อคิดหลักคำสอนที่ดีที่งามแก่คนอื่น เช่น พระสงฆ์ที่เทศน์ให้ชาวบ้านฟัง แต่สำหรับฆราวาสทั่วไปหรือตัวเราที่เป็นชาวบ้านคนธรรมดาทั่วไปก็สามารถทำได้ด้วยการพูดข้อธรรมะดี ๆ จากปากของเราให้กับผู้อื่นได้รับฟัง หรือเป็นการหาหนังสือธรรมะให้ผู้อื่น แสดงแนวทางความเป็นจริงแห่งชีวิตตามหลักธรรมะให้ผู้อื่นได้ฟ้ง ไม่ว่าจะเป็นการปลอบโยน หรือการให้ข้อแนะนำใด ๆ ก็ตาม ที่ทำให้เขาคิดได้ ไตร่ตรองได้ ได้พิจารณาธรรมไปด้วย อย่างนี้เรียกว่าเป็นการทำบุญแบบธัมมเทสนามัย

การทำบุญแบบทิฏฐชุกรรม

ทิฏฐชุกรรม หมายถึง การนึกคิดในสิ่งที่ดี ที่งาม ที่ถูกต้อง ซึ่งความจริงแล้วแนวประพฤตินี้เป็นสิ่งที่เราต้องพึงกระทำอยู่แล้วในการดำรงชีวิตของเราเอง เพราะถ้าเรามีความนึกคิดที่ดี มีความคิดอันงดงาม มีความคิดในทางที่ถูกต้อง เราก็จะไม่เดินเบี่ยงเบนไปในทางที่ผิดไม่ว่าจะเป็นทางศีลธรรม หรือทางกฏหมาย ชีวิตเราก็ย่อมมีแต่ความสุขความเจริญ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น