วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2558

ความหมายของบุญกับกุศล

คำว่า "บุญ" กับ "กุศล"  มักอยู่คู่กันเสมอ แต่ในความหมายที่แท้จริงแล้วสองคำนี้มีความหมายเป็นคนละอย่างกัน

บุญเป็นสิ่งที่ทำให้ฟูขึ้น ทำให้พองขึ้น เป็นความอิ่มใจสุขใจ เมื่อทำบุฐแล้วใจก็พองขึ้นฟูขึ้น

กุศลนั้นหมายถึง แผ้วถาง การทำให้ราบเตียน ซึ่งก็คือการกำจัดความรู้สึกอันเป็นกิเลสในใจ มิว่าจะเป็นความปรารถนาในทางสุขใจหรือทุกข์ใจ

คนเรานั้นเมื่อทำบุญ ก็ย่อมนึกหวังไปในใจว่าทำบุญแล้วชาติหน้า จะได้สุขสบายมีความเจริญเป็นลำดับแรก และอาจคิดต่อไปว่าทำบุญแล้วชาติหน้าจะได้สุขสบาย หรือตายไปชาตินี้จะไม่ตกนรก อันนี้ถือเป็นความคิดธรรมดาของปุถุชน ไม่ถือว่าผิดแต่อย่างใด ไม่ถือว่าผิดที่ทำบุญแล้วหวังผล เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราทำบุญแล้วจิตใจสบาย จึงคิดจึงรู้สึกไปได้

แต่กุศลนั้นเป็นการแผ้วถาง การสร้างกุศลจึงเป็นเสมือนการสร้างจิตให้มิคิดคาดหวังแต่ความสุขใด กุศลเป็นการปล่อยวางไม่หวังไม่ยึดติดสิ่งใด แม้ความหมายจะแตกต่าง แต่เรื่องบุญเรื่องกุศลก็เป็นเรื่องที่แยกไม่ออก

เมื่อคนเราทำบุญนั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราไปทำบุญถวายสังฆทาน เราก็จะมีความสุขความอิ่มเอิบใจเมื่อทำบุญแล้ว ต่อไปถ้าเราทำทาน โดยให้ทานแก่คนหรือสัตว์ เช่น นำอาหารแบ่งปันให้คนหรือสัตว์จรจัดที่หิวโหย หรือแบ่งทรัพย์ แบ่งเสื้อผ้า อาหาร ให้แก้คนยากไร การทำทานนี้นอกจากได้บุญแล้ว ยังได้กุศลด้วย เพราะเราได้สละของของเราให้แก่ผู้อื่น เราขูดความตระหนี่ถี่เหนียวของเราออกไป เราไม่หวงไม่ยึดติดว่าเป็นของเรา แต่กลับคิดถึงผู้อื่นอีกด้วย เป็นการแผ้วถางกิเลสแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม การได้ทำทานก็ถือว่าไม่ได้ทำเพื่อให้ตัวเองอิ่มใจแต่อย่างเดียว เพราะเป็นการทำให้ผู้อื่นได้ประโยชน์สุขด้วยนั่นเอง

ดังนี้จะเห็นได้ว่าบุญกุศลนั้นย่อมอยู่ด้วยกัน เป็นเนื้อนาบุญเดียวกันแม้จะต่างกันในความหมาย

แต่ถ้ามองให้ดีเราจะเห็นได้ว่า กุศลนั้นเป็นบุญชั้นสูงขึ้นไปกว่าบุญในเบื้องต้น เพราะกุศลเป็นบุญที่ทำโดยจิตบริสุทธิ์แท้ ๆ มีมีการคาดหวังผลอันใดตอบแทนแต่กลับจะยิ่งเป็นพลังบารมีที่สร้างสมขึ้นมาจากความว่าง ความมิคาดหวังผลใด ๆ ความที่ตัดหรือแผ้วถางกิเลสให้ราบให้เตียนไปนั้นแหละยิ่งเป็นมหากุศลโดยแท้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกุศลและบุญย่อมเติบโตก่อเกิดจากแดนดินเดียวกัน คือเกิดจากจิตอันปรารถนาจะทำบุญและสร้างกุศลนั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น