วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2557

วิปัสสนากรรมฐานคืออะไร


วิปัสสนากรรมฐาน : เป็นเรื่องของการศึกษาชีวิต เพื่อจะปลดเปลื้องความทุกข์นานาประการ ออกเสียจากชีวิต เป็นเรื่องของการค้นหาความจริงว่าชีวิตมันคืออะไรกันแน่ ปกติเราปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปตามความเคยชินของมันเองปีแล้วปีเล่า มันมีแต่ความมืดบอด
วิปัสสนากรรมฐาน : เป็นเรื่องของการตีปัญหาการซับซ้อนของชีวิต เป็นเรื่องของการค้นหาความจริงของชีวิต ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำมา
วิปัสสนากรรมฐาน : เป็นการเริ่มต้นในการปลดเปลื้องตัวเราให้พ้นจากความเป็นทาสของความเคยชิน
ในตัวเรานั้น เรามีของดีที่มีคุณค่าอยู่แล้ว คือ สติสัมปชัญญะ แต่เรานำออกมาใช้น้อยนัก ทั้งที่เป็นของที่มีคุณค่าแก่ชีวิตหาประเมินมิได้ วิปัสสนาฯ เป็นการระดมเอา สติ ทั้งหมดที่มีอยู่ในตัวเราเอาออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์
วิปัสสนากรรมฐาน : คือ การอัญเชิญ สติ ที่ถูกทอดทิ้ง ขึ้นมานั่งบัลลังก์ของชีวิต เมื่อสติขึ้นมานั่งสู่บัลลังก์แล้ว จิตก็จะคลานเข้ามามอบถวายบังคมอยู่เบื้องหน้าสติ สติจะควบคุมจิต มิให้แส่ออกไปคบหาอารมณ์ต่าง ๆ ภายนอก ในที่สุดจิตก็จะค่อยคุ้นเคย กับการสงบอยู่กับอารมณ์เดียว เมื่อจิตสงบตั้งมั่นดีแล้ว การรู้ตามความจริง ก็เป็นผลติดตามมา เมื่อนั้นแหละเราก็จะทราบได้ว่าความทุกข์มันมาจากไหน เราจะสกัดกั้นมันได้อย่างไร นั้นแหละคือผลงานของสติ
ภายหลังจากที่ได้ทุ่มเทสติสัมปชัญญะลงไปอย่างเต็มที่แล้ว จิตใจของผู้ปฏิบัติ ก็จะได้สัมผัสกับสัจจะแห่งสภาวธรรมต่าง ๆ อันผู้ปฏิบัติไม่เคยเห็นอย่างซึ้งใจมาก่อน ผลงานอันมีค่าล้ำเลิศของสติ สัมปชัญญะ จะทำให้เราเห็นอย่างชัดแจ้งว่า ความทุกข์นานาประการนั้น มันไหลเข้ามาสู่ชีวิตของเราทางช่องทวาร 6 ทวาร 6 นั้นเป็นต่อและบ่อเกิดสิ่งเหล่านี้คือ ขันธ์ 5 จิตร กิเลส
ช่องทวาร 6 นี้ ทางพระพุทธศาสนาท่านเรียกว่า อายตนะ อายตนะมีภายใน 6 ภายนอก 6 ดังนี้ อายตนะภายในมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอกมี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (กาย ถูกต้องสัมผัส) ธรรมารมณ์ (อารมณ์ที่เกิดจากใจ) รวม 12 อย่างนี้ มีหน้าที่ต่อกันเป็นคู่ ๆ คือ ตาคู่กับรูป หูคู่กับเสียง จมูกคู่กับกลิ่น ลิ้นคู่กับรส กายคู่กับการสัมผัสถูกต้อง ใจคู่กับอารมณ์ที่เกิดกับใจ
เมื่ออายตนะคู่ใดคู่หนึ่ง ต่อถึงกันเข้า จิตก็จะเกิดขึ้น ณ ที่นั้นเอง และจะดับลงไป ณ ที่นั้นทันที จึงจะเห็นได้ว่าจิตไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน การที่เราเห็นว่าจิตเป็นตัวเป็นตนนั้น ก็เพราะว่าการเกิดดับของจิตรวดเร็วมาก การเกิดดับของจิตเป็นสันตติคือ เกิดดับต่อเนื่องไม่ขาดสาย เราจึงไม่มีทางทราบได้ถึงความไม่มีตัวตนของจิต ต่อเมื่อเราทำการกำหนด รูป นาม เป็นอารมณ์ตามระบบวิปัสสนากรรมฐาน ทำการสำรวมสติสัมปชัญญะอย่างมั่นคงจนจิตตั้งมั่นดีแล้ว เราจึงจะรู้เห็นการเกิด-ดับของจิต รวมทั้งสภาวธรรมต่าง ๆ ตามความเป็นจริง
การที่จิตเกิดทางอายตนะต่าง ๆ นั้น มันเป็นการทำงานร่วมกันของขันธ์ 5 เช่น ตากกระทบรูป เจตสิกต่างๆ ก็เกิดตามมาพร้อมกัน คือ เวทนาเสวยอารมณ์ สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ สัญญา จำได้ว่ารูปอะไร สังขาร ทำหน้าที่ปรุงแต่ง วิญญาณ รู้ว่ารูปนี้ ดี ไม่ดี หรือ เฉย ๆ กิเลสต่าง ๆ ก็จะติดตามเข้ามาคือ ดีชอบเป็นโลภะ ไม่ดีไม่ชอบเป็นโทสะ เฉย ๆ ขาดสติกำหนดเป็นโมหะ อันนี้เองจะบันดาลให้อกุศลต่าง ๆ เกิดขึ้นตามมา ความประพฤติชั่วร้ายต่าง ๆ ก็จะเกิด ณ ตรงนี้เอง
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน : โดยเอาสติเข้าไปเป็นที่ตั้งกำกับจิตตามช่องทวารทั้ง 6 เมื่อปฏิบัติได้ผลแก่กล้าแล้วก็จะเข้าตัดต่ออายตนะทั้ง 6 คู่นั้น ไม่ให้ติดต่อกันได้โดยจะเห็นตามความเป็นจริงว่า เมื่อตากระทบรูปก็จะเห็นว่าสักแต่ว่าเป็นแค่รูป ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน บุคคล เรา เขา ไม่ทำให้ความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่ง ให้เกิดความพอใจหรือไม่พอใจเกิดขึ้น รูปก็จะดับลงอยู่ ณ ตรงนั้นเอง ไม่ให้ไหลเข้ามาสู่ภายในจิตได้ อกุศลธรรมทั้งหลายก็จะไม่ตามเข้ามา
สติ ที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น นอกจากจะคอยสกัดกั้นกิเลสไม่ให้เข้ามาทางอายตนะแล้ว ยังเพ่งเล็งอยู่ที่รูปกับนาม เมื่อเพ่งอยู่ก็จะเห็นความเกิดดับของรูปนามนั้น จักนำไปสู่การเห็นพระไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่เป็นตัวตนของสังขาร หรืออัตภาพอย่างแจ่มแจ้ง
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น จะมีผลมากหรือน้อยเพียงใด อยู่ที่หลักใหญ่ 3 ประการ
1.                อาตาปี ทำความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน
2.                สติมา มีสติ
3.                สัมปชาโนมีสัมปชัญญะ อยู่กับรูปนามตลอดเวลาเป็นหลักสำคัญ
นอกจากนั้นผู้ปฏิบัติต้องมีศรัทธา ความเชื่อว่าการปฏิบัติเช่นนี้มีผลจริง ความมีศรัทธานี้เปรียบดุจเมล็ดพืชที่สมบูรณ์พร้อมจะงอกงามได้ทันทีที่นำไปปลูก ความเพียรประดุจน้ำที่พรมลงไปที่เมล็ดพืชนั้น เมื่อเมล็ดพืชได้น้ำพรมลงไปก็จะงอกงามสมบูรณ์ขึ้นทันที เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติจะได้ผลมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ด้วย
การปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติต้องเปรียบเทียบดูจิตใจของเราในระหว่าง 2 วาระ ว่าก่อนที่ยังไม่ปฏิบัติ และหลังการปฏิบัติแล้ว วิเคราะห์ตัวเองว่ามีความแตกต่างกันประการใด
หมายเหตุ เรื่องของวิปัสสนากรรมฐานที่เขียนขึ้นดังต่อไปนี้ จะยึดถือเป็นตำราไม่ได้ ผู้เขียนเขียนขึ้นเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติเท่านั้น โดยพยายามเขียนให้ง่ายแก่การศึกษาและปฏิบัติมากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้เท่านั้นเอง

จากหนังสือคู่มือการฝึกอบรมพัฒนาจิต วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี โดย พ.ท. วิง รอยเฉย ปี 2529

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น